สั่งจับตาย! ‘นกยูงอินเดีย’ ป่าห้วยขาแข้ง หลังผสมพันธุ์นกยูงไทย จนเสียสายพันธุ์ ชี้ไม่ได้อยากทำ แต่ต้องคิดถึงผลเสียที่จะตามมาก่อน
ความคืบหน้า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ประกาศปิดการเข้าเยี่ยมชมสัตว์ป่า ณ หอดูสัตว์ป่าโป่งช้างเผือก (หรือหอนกยูง) เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย.
หลังมีช่างภาพถ่ายภาพ “นกยูงอินเดีย” และ “นกยูงพันธุ์ผสม” ได้ที่บริเวณหอดูสัตว์โป่งช้างเผือก ซึ่งเป็นนกยูงอินเดียสีขาว และ นกยูงที่คาดว่าเป็นลูกผสม หากินปะปนร่วมกับฝูงนกยูงไทยประมาณ 10 ตัว ทำให้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ ช่วยกันจับนกยูงทั้ง 2 ตัวออกมาจากป่า เพราะจะไปผสมพันธุ์กับนกยูงพันธุ์ไทย ในป่าห้วยขาแข้ง ทำให้นกยูงพันธุ์ไทยในห้วยขาแข้งเสียสายพันธุ์ หลังอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์แล้วนั้น
อย่างไรก็ตามจากการ ไล่ล่าตัว วางกรงดัก ก็ยังไม่สามารถจับได้ จนนกยูงสีขาวอินเดีย ได้ผสมกับนกยูงพื้นเมืองพันธุ์ไทยไปแล้ว
ล่าสุด นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยกับ มติชนออนไลน์ ว่า คนทั่วไปอาจมองเป็นแค่เรื่องเล็ก ๆ ของนกยูงตัวหนึ่ง แต่มีความสำคัญในแง่การเปลี่ยนแปลงทางด้านระบบนิเวศอย่างใหญ่หลวงมาก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้มีการเสนอมาว่า หากจับไม่ได้ ก็ควรทำการการุณยฆาต หรือฆ่าทิ้งไปเสียเลย ซึ่งในหลายประเทศก็ทำกันเช่นนี้
“ผมก็ไม่อยากทำ เพราะก็เป็นชีวิตหนึ่ง แต่เจ้าหน้าที่เราจับไม่ได้เสียที จึงสั่งการไปว่า หากจับไม่ได้จริง ๆ ก็ต้องทำ เพราะต้องคิดถึงผลเสียที่จะตามมาก่อน” นายอรรถพล กล่าว