ร้านดังท้าลอง เปิดเมนู ปลาหมอคางดำ วอนรัฐรับซื้อโลละ20 ชี้ใช้ปลากะพงล่า ต้นทุนสูง ทุกทิศทั่วไทย

ร้านดังท้าลอง เปิดเมนู ปลาหมอคางดำ วอนรัฐรับซื้อโลละ20 ชี้ใช้ปลากะพงล่า ต้นทุนสูง ทั้งพันธุ์ปลาตัวใหญ่ และอาหาร ขณะที่เกษตรกรเผยความเสียหาย

วันที่ 17 ก.ค.2567 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ร้านข้าวใหม่ปลามัน ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ได้พูดคุยกับ นายปัญญา โตกทอง เจ้าของร้านข้าวใหม่ปลามัน ซึ่งแนะนำการทำเมนูต่างๆจากปลาหมอคางดำ

โดยได้เหวี่ยงแหจับปลาหมอคางดำบริเวณบ่อข้างร้าน นำมาทำเป็นเมนู ปลาหมอคางดำทอดกระเทียม ผักฉ่าปลาหมอคางดำ ต้มยำปลาหมอคางดำ ปลาหมอคางดำราดพริก เป็นต้น เพื่อให้ผู้สื่อข่าวได้ชิมรสชาติปลาหมอคางดำ หวังจะนำปลาหมอคางดำที่มีจำนวนมากมาเป็นอาหารสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน

นายปัญญา กล่าวว่า แม้ปลาหมอคางดำจะอร่อยสู้ ปลาหมอเทศ และปลานิลไม่ได้ แต่ถ้าคนที่ไม่รู้รับประทานอย่างเดียว ก็จะดูคล้ายปลานิล นอกจากนี้ยังสามารถนำไปผลิตเป็นปลาป่น ปลาร้า น้ำปลา ทำปุ๋ย ทำให้หลากหลาย แต่ต้องระมัดระวังอย่าให้ไข่หลุดรอดลงแหล่งน้ำ

นายปัญญา กล่าวว่า ในอดีตที่เริ่มระบาดแค่ 4 อำเภอ 2 จังหวัด ความเสียหายไม่กี่ร้อยล้าน แต่ปัจจุบันระบาดไปรอบอ่าวไทย 16 จังหวัด แล้ว ความเสียหายทะลุไปหมื่นล้านแล้ว ส่วนคนรับผิดชอบจากดูจากไทม์ไลน์แล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐภาคประชาสังคม องค์กรต่างๆ ก็คงต้องช่วยกันตรวจสอบแหล่งที่มา ซึ่งผู้ก่อก็ต้องผู้รับผิดชอบ

ร้านดังท้าลอง เปิดเมนู ปลาหมอคางดำ วอนรัฐรับซื้อโลละ20 ชี้ใช้ปลากะพงล่า ต้นทุนสูง

ร้านดังท้าลอง เปิดเมนู ปลาหมอคางดำ วอนรัฐรับซื้อโลละ20 ชี้ใช้ปลากะพงล่า ต้นทุนสูง

ส่วนการรับซื้อ 15 บาทนั้น รัฐบาลกลัวว่าชาวบ้านจะเพาะเลี้ยงขาย ซึ่งหากปลาชนิดนี้ดีจริงภาคเอกชนคงไม่ทิ้ง และอัตราการแลกเนื้อปลา 1 ก.ก.ใช้อาหาร 1.5 ก.ก. อาหารปลาใช้เลี้ยง ก.ก.ละ 20 บาท รวมทั้งค่าบริหารจัดการต่างๆไม่คุ้มทุนที่จะเพาะเลี้ยง นอกจากนี้โทษยังรุนแรงปรับ 1,000,000 บาท ห้ามนำเข้าห้ามเพาะเลี้ยง แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านปล่อยน้ำธรรมชาติเข้าบ่อเลี้ยงกุ้งแล้วติดปลาหมอคางดำมาด้วย ก็ต้องรับผิดชอบรับซื้อเขาด้วย

นายปัญญา กล่าวว่า ถ้าจะให้ดีควรเป็น ก.ก.ละ 20 บาท เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านจับอย่างบ้าคลั่ง ในพื้นที่ระบาด ส่วนพื้นที่ระบาดน้อยควรปล่อยสัตว์น้ำนักล่าหลายชนิดลงไป เมื่อบางแล้วก็ปล่อยปลาทำหมันลงไป ไม่ต้องรีบเพราะหากวิจัยพัฒนาไม่ได้คุณภาพ

พันธุ์ปลาที่จะทำหมันแล้วปล่อยลงไปดีไม่ดีจะเป็นซูเปอร์เอเลี่ยน สร้างปัญหาต่อไปอีก ขณะที่ผู้เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลากะพง จ.สมุทรสงคราม ประสานเสียง วอนให้รัฐรับซื้อปลาหมอคางดำ กับจัดหาพันธุ์ปลากะพงราคาถูกกว่าท้องตลาดขายตรงผู้เลี้ยง หวั่นอนาคตหากคุมไม่อยู่ปลาหมอคางดำทำหมดตัวแน่

ขณะที่ นายธีระพงษ์ กลิ่นขจร อายุ 43 ปี ผู้เพาะเลี้ยงปลากะพงจำนวน 3 บ่อรวมพื้นที่ 8.5 ไร่ ม.3 ต.นางตะเคียน อ.เมือง จ.สมุทรสงครามกล่าวว่าตนเลี้ยงปลากะพงในบ่อแบบพัฒนาระบบปิดมานานแล้ว โดยสูบน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะเข้ามาแล้วใช้อวนตาถี่ปิดกรองน้ำป้องกันปลาหมอคางดำ แล้วซื้อพันธุ์ปลากะพงมาปล่อย แต่ก็มีปลาหมอคางดำเล็กๆ เล็ดลอดเข้ามาทำให้การจับแต่ละครั้งได้ปลากะพงน้อยลงเรื่อยๆ แต่ปลาหมอคางดำเพิ่มขึ้น

ล่าสุดตนจึงทดลองปล่อยปลากะพงตัวใหญ่ขนาด 4 นิ้วขึ้นไปในบ่อเลี้ยงขนาด 2 ไร่ จำนวน 26,000 ตัว เป็นการปล่อยแบบหนาแน่นแต่เลี้ยงอย่างสมบูรณ์ให้อาหารทั้งเช้าและเย็นเป็นเวลา 8 เดือน หมดค่าอาหารไป 1 ล้านบาท จับปลากะพงขายได้น้ำหนักตัวละ 8 ขีดถึง 1 กิโลกรัม ประมาณ 24,000 ตัว

รวมน้ำหนัก 16 ตันหรือ 16,000 กิโลกรัม ที่เหลือเป็นปลาหมอคางดำเข้ามาปะปนบ้าง ดังนั้นการเลี้ยงปลากะพงให้เปอร์เซ็นต์อยู่รอดสูง ตนจึงเห็นว่าต้องใช้ปลาตัวใหญ่ขึ้นเพื่อให้ปลาหมอคางดำจับกินไม่ได้ แต่ต้องลงทุนสูงทั้งพันธุ์ปลาและอาหาร

ส่วนลูกปลาหมอคางดำตัวเล็กๆ ที่เล็ดลอดเข้ามาจึงถูกปลากะพงจับกินเป็นอาหารแต่ก็มีบ้างที่โตแล้วก็แย่งอาหารปลากะพงกิน แต่เมื่อเทียบกับก่อนหน้าที่ปลาหมอคางดำยังไม่แพร่ระบาด บ่อของตนไม่ต้องใช้ลูกปลากะพงโตขนาดนี้เพราะทำให้ต้นทุนสูงโดยใช่เหตุ แต่จับปลากะพงได้เกือบ 100 % และไม่เคยมีปลาหมอคางดำเลย

นายธีระพงษ์ กล่าวด้วยว่า ตนเห็นด้วยที่ภาครัฐจะรับซื้อปลาหมอคางดำกิโลกรัมละ 20 บาท เพราะช่วงนี้ปลาหมอคางดำมีเยอะแทบทุกพื้นที่ หากภาครัฐไม่เร่งหาทางกำจัดอนาคตก็ไม่แน่ว่าบ่อเลี้ยงปลากะพงที่แม้จะมีการป้องกันอย่างดีก็อาจจะมีปลาหมอคางดำเข้ามาระบาดได้ การใช้ลูกปลากะพงตัวใหญ่นั้นต้นทุนก็สูง

ไหนจะค่าอาหารปลา ค่าไฟฟ้า และค่าแรงงาน จึงอยากให้ภาครัฐเร่งเข้ามาจัดการเรื่องนี้ จะใช้วิธีใดก็ได้ที่ควบคุมปลาหมอคางดำให้ได้ผล แต่หากกำจัดไม่ได้หรือคุมไม่อยู่ในอนาคตอย่าว่าแต่ผู้เลี้ยงกุ้งเลย ผู้เลี้ยงปลากะพงก็อาจสู้ไม่ไหวและคงหมดตัวเพราะปลาหมอคางดำเป็นแน่