ร้านดังท้าลอง เปิดเมนู ปลาหมอคางดำ วอนรัฐรับซื้อโลละ20 ชี้ใช้ปลากะพงล่า ต้นทุนสูง ทั้งพันธุ์ปลาตัวใหญ่ และอาหาร ขณะที่เกษตรกรเผยความเสียหาย
วันที่ 17 ก.ค.2567 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ร้านข้าวใหม่ปลามัน ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ได้พูดคุยกับ นายปัญญา โตกทอง เจ้าของร้านข้าวใหม่ปลามัน ซึ่งแนะนำการทำเมนูต่างๆจากปลาหมอคางดำ
โดยได้เหวี่ยงแหจับปลาหมอคางดำบริเวณบ่อข้างร้าน นำมาทำเป็นเมนู ปลาหมอคางดำทอดกระเทียม ผักฉ่าปลาหมอคางดำ ต้มยำปลาหมอคางดำ ปลาหมอคางดำราดพริก เป็นต้น เพื่อให้ผู้สื่อข่าวได้ชิมรสชาติปลาหมอคางดำ หวังจะนำปลาหมอคางดำที่มีจำนวนมากมาเป็นอาหารสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน
นายปัญญา กล่าวว่า แม้ปลาหมอคางดำจะอร่อยสู้ ปลาหมอเทศ และปลานิลไม่ได้ แต่ถ้าคนที่ไม่รู้รับประทานอย่างเดียว ก็จะดูคล้ายปลานิล นอกจากนี้ยังสามารถนำไปผลิตเป็นปลาป่น ปลาร้า น้ำปลา ทำปุ๋ย ทำให้หลากหลาย แต่ต้องระมัดระวังอย่าให้ไข่หลุดรอดลงแหล่งน้ำ
นายปัญญา กล่าวว่า ในอดีตที่เริ่มระบาดแค่ 4 อำเภอ 2 จังหวัด ความเสียหายไม่กี่ร้อยล้าน แต่ปัจจุบันระบาดไปรอบอ่าวไทย 16 จังหวัด แล้ว ความเสียหายทะลุไปหมื่นล้านแล้ว ส่วนคนรับผิดชอบจากดูจากไทม์ไลน์แล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐภาคประชาสังคม องค์กรต่างๆ ก็คงต้องช่วยกันตรวจสอบแหล่งที่มา ซึ่งผู้ก่อก็ต้องผู้รับผิดชอบ
ส่วนการรับซื้อ 15 บาทนั้น รัฐบาลกลัวว่าชาวบ้านจะเพาะเลี้ยงขาย ซึ่งหากปลาชนิดนี้ดีจริงภาคเอกชนคงไม่ทิ้ง และอัตราการแลกเนื้อปลา 1 ก.ก.ใช้อาหาร 1.5 ก.ก. อาหารปลาใช้เลี้ยง ก.ก.ละ 20 บาท รวมทั้งค่าบริหารจัดการต่างๆไม่คุ้มทุนที่จะเพาะเลี้ยง นอกจากนี้โทษยังรุนแรงปรับ 1,000,000 บาท ห้ามนำเข้าห้ามเพาะเลี้ยง แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านปล่อยน้ำธรรมชาติเข้าบ่อเลี้ยงกุ้งแล้วติดปลาหมอคางดำมาด้วย ก็ต้องรับผิดชอบรับซื้อเขาด้วย
นายปัญญา กล่าวว่า ถ้าจะให้ดีควรเป็น ก.ก.ละ 20 บาท เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านจับอย่างบ้าคลั่ง ในพื้นที่ระบาด ส่วนพื้นที่ระบาดน้อยควรปล่อยสัตว์น้ำนักล่าหลายชนิดลงไป เมื่อบางแล้วก็ปล่อยปลาทำหมันลงไป ไม่ต้องรีบเพราะหากวิจัยพัฒนาไม่ได้คุณภาพ
พันธุ์ปลาที่จะทำหมันแล้วปล่อยลงไปดีไม่ดีจะเป็นซูเปอร์เอเลี่ยน สร้างปัญหาต่อไปอีก ขณะที่ผู้เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลากะพง จ.สมุทรสงคราม ประสานเสียง วอนให้รัฐรับซื้อปลาหมอคางดำ กับจัดหาพันธุ์ปลากะพงราคาถูกกว่าท้องตลาดขายตรงผู้เลี้ยง หวั่นอนาคตหากคุมไม่อยู่ปลาหมอคางดำทำหมดตัวแน่
ขณะที่ นายธีระพงษ์ กลิ่นขจร อายุ 43 ปี ผู้เพาะเลี้ยงปลากะพงจำนวน 3 บ่อรวมพื้นที่ 8.5 ไร่ ม.3 ต.นางตะเคียน อ.เมือง จ.สมุทรสงครามกล่าวว่าตนเลี้ยงปลากะพงในบ่อแบบพัฒนาระบบปิดมานานแล้ว โดยสูบน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะเข้ามาแล้วใช้อวนตาถี่ปิดกรองน้ำป้องกันปลาหมอคางดำ แล้วซื้อพันธุ์ปลากะพงมาปล่อย แต่ก็มีปลาหมอคางดำเล็กๆ เล็ดลอดเข้ามาทำให้การจับแต่ละครั้งได้ปลากะพงน้อยลงเรื่อยๆ แต่ปลาหมอคางดำเพิ่มขึ้น
ล่าสุดตนจึงทดลองปล่อยปลากะพงตัวใหญ่ขนาด 4 นิ้วขึ้นไปในบ่อเลี้ยงขนาด 2 ไร่ จำนวน 26,000 ตัว เป็นการปล่อยแบบหนาแน่นแต่เลี้ยงอย่างสมบูรณ์ให้อาหารทั้งเช้าและเย็นเป็นเวลา 8 เดือน หมดค่าอาหารไป 1 ล้านบาท จับปลากะพงขายได้น้ำหนักตัวละ 8 ขีดถึง 1 กิโลกรัม ประมาณ 24,000 ตัว
รวมน้ำหนัก 16 ตันหรือ 16,000 กิโลกรัม ที่เหลือเป็นปลาหมอคางดำเข้ามาปะปนบ้าง ดังนั้นการเลี้ยงปลากะพงให้เปอร์เซ็นต์อยู่รอดสูง ตนจึงเห็นว่าต้องใช้ปลาตัวใหญ่ขึ้นเพื่อให้ปลาหมอคางดำจับกินไม่ได้ แต่ต้องลงทุนสูงทั้งพันธุ์ปลาและอาหาร
ส่วนลูกปลาหมอคางดำตัวเล็กๆ ที่เล็ดลอดเข้ามาจึงถูกปลากะพงจับกินเป็นอาหารแต่ก็มีบ้างที่โตแล้วก็แย่งอาหารปลากะพงกิน แต่เมื่อเทียบกับก่อนหน้าที่ปลาหมอคางดำยังไม่แพร่ระบาด บ่อของตนไม่ต้องใช้ลูกปลากะพงโตขนาดนี้เพราะทำให้ต้นทุนสูงโดยใช่เหตุ แต่จับปลากะพงได้เกือบ 100 % และไม่เคยมีปลาหมอคางดำเลย
นายธีระพงษ์ กล่าวด้วยว่า ตนเห็นด้วยที่ภาครัฐจะรับซื้อปลาหมอคางดำกิโลกรัมละ 20 บาท เพราะช่วงนี้ปลาหมอคางดำมีเยอะแทบทุกพื้นที่ หากภาครัฐไม่เร่งหาทางกำจัดอนาคตก็ไม่แน่ว่าบ่อเลี้ยงปลากะพงที่แม้จะมีการป้องกันอย่างดีก็อาจจะมีปลาหมอคางดำเข้ามาระบาดได้ การใช้ลูกปลากะพงตัวใหญ่นั้นต้นทุนก็สูง
ไหนจะค่าอาหารปลา ค่าไฟฟ้า และค่าแรงงาน จึงอยากให้ภาครัฐเร่งเข้ามาจัดการเรื่องนี้ จะใช้วิธีใดก็ได้ที่ควบคุมปลาหมอคางดำให้ได้ผล แต่หากกำจัดไม่ได้หรือคุมไม่อยู่ในอนาคตอย่าว่าแต่ผู้เลี้ยงกุ้งเลย ผู้เลี้ยงปลากะพงก็อาจสู้ไม่ไหวและคงหมดตัวเพราะปลาหมอคางดำเป็นแน่