มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงิน 10,000 บาท หรือโครงการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเลต เฟส 3 ซึ่งเป็นการแจกเงินให้กลุ่มที่มีอายุ 16-59 ปี ที่ไม่ติดเงื่อนไขการครอบครองทรัพย์สิน และมีรายได้ตามเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนด ประมาณ 15 ล้านคน คาดว่าจะใช้เม็ดเงินราว 1.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า จะเริ่มแจกเงินได้ในช่วงปลายไตรมาส 2/2568 หรืออย่างเร็วที่สุดคือประมาณเดือนพฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป และระหว่างนี้กระทรวงการคลัง และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA เตรียมทดสอบระบบเพย์เมนต์ (ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์) เชื่อมกับระบบของธนาคารพาณิชย์ คาดว่าจะเริ่มทดสอบทั้งระบบในเดือนมีนาคม และยืนยันไม่มีการแจกเป็นเงินสด
แจกกลุ่มแรกอายุ 16-20 ปี
เดือน พ.ค. แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย ว่า การแจกเงินดิจิทัลวอลเลต เฟส 3 สำหรับกลุ่มอายุ 16-59 ปี ขณะนี้คณะอนุกรรมการอยู่ระหว่างการพิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไขรายละเอียดบางอย่างเพื่อให้การใช้จ่ายสะดวก รวมทั้งในส่วนของการให้นำวงเงินจากดิจิทัลวอลเลตออกมาใช้ได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่กำหนดให้ร้านค้าถอนเงินสดได้ ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น ก็มีการหารือที่จะปลดล็อกให้ร้านค้าที่ไม่อยู่ในระบบภาษีสามารถถอนเงินออกได้ เพื่อเป็นการจูงใจร้านค้ารายย่อยให้ได้รับประโยชน์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบนี้ด้วย
สำหรับไทม์ไลน์การแจกเงิน คาดว่าจะเป็นช่วงเดือนพฤษภาคม 2568 เนื่องจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่าง ๆ จะต้องเชื่อมต่อระบบ Open Loop กับระบบเพย์เมนต์ที่ทาง DGA เป็นผู้รับผิดชอบ และต้องมีการทดสอบเพื่อให้มั่นใจระบบเติมเงินและชำระเงินทำให้อย่างมีเสถียรภาพพร้อมใช้งานต่อเนื่อง และมีมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อปิดความเสี่ยงเพราะเป็นระบบที่เชื่อมต่อด้านการเงิน และมีผู้ใช้จำนวนมาก
อย่างไรก็ดี เนื่องจากระบบเพย์เมนต์ที่พัฒนาขึ้นมาเป็นระบบใหม่ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและไม่ให้เกิดปัญหาระบบล่ม ในกรณีมีคนจำนวนมากเข้าไปใช้งานในช่วงเวลาเดียวกัน คณะอนุกรรมการจึงมีการหารือกันว่าการแจกเงินดิจิทัลวอลเลตเฟส 3 จะมีการแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ โดยกลุ่มแรกที่จะได้รับเงินเป็นกลุ่มอายุ 16-20 ปีก่อน
ก่อนหน้านี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือน ก.พ. 2568 หรือช่วงต้นเดือน มี.ค. 2568 คาดว่าจะนัดประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้ ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า การแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 เฟส 3 จะเหลืออีกประมาณ 15 ล้านคน กลุ่มอายุ 16-59 ปี ที่ไม่ติดเงื่อนไขทรัพย์สิน และรายได้ตามเกณฑ์ รัฐบาลยืนยันว่าเตรียมการไว้แล้ว โดยยืนยันคำเดิมคือแจกในไตรมาส 2 ปี 2568 คือในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.นี้
ส่วนในเรื่องการทำระบบ Open Loop กับสถาบันการเงิน ตอนนี้ระบบเสร็จแล้ว และอยู่ในช่วงของการทดลองระบบ คาดว่าจะใช้เวลาทดลองประมาณ 1 เดือน เพื่อให้ระบบรัดกุม ขณะที่กลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟนยังเดินหน้าต่อเปิดลงทะเบียนแน่นอน และกำลังหาวิธีอยู่ ยืนยันว่ากลุ่มผู้ไม่มีสมาร์ทโฟนจะได้รับเงิน 10,000 บาทอย่างแน่นอน สอดคล้องกับความเห็นของนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯ และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ระบุว่าระบบเพย์เมนต์ไม่มีปัญหา น่าจะจบแล้ว มีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยได้ผู้ชนะในการเสนอราคาพัฒนาระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าบริษัทที่ชนะจะส่งมอบงานในปลายเดือนกุมภาพันธ์ และจะมีการทดลองระบบทั้งระบบในเดือนมีนาคมนี้
ปรับเงื่อนไขใช้จ่ายง่ายขึ้น
ก่อนหน้านี้ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ระหว่างพิจารณาผ่อนปรนให้ร้านค้าและประชาชนสามารถใช้ดิจิทัลวอลเลตได้ง่ายขึ้น เช่น ในมิติของร้านค้าจะผ่อนปรนให้นำวงเงินจากดิจิทัลวอลเลตออกมาใช้ได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่กำหนดให้ร้านค้าถอนเงินสดได้ เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป และร้านค้าที่ถอนเงินสดได้ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น ขณะที่ในด้านประชาชนนั้น จะปรับเงื่อนไขให้ใช้งานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีกระแสข่าวว่าจะมีการปรับเงื่อนไขให้ประชาชนใช้จ่ายเป็นเงินสดได้ ยืนยันว่ารูปแบบการใช้จ่ายยังเป็นการใช้ในระบบดิจิทัลวอลเลต ขณะที่เรื่องเงื่อนไขการจำกัดใช้จ่ายเฉพาะพื้นที่อำเภอตามทะเบียนบ้านนั้น รอข้อสรุปจากคณะกรรมการ แต่มีแนวโน้มที่จะใช้เป็นพื้นที่เหมือนเดิม
“บลูบิค” ชนะระบบเพย์เมนต์
สำหรับบริษัทที่ชนะการเสนอราคา ระบบแพลตฟอร์มการชำระเงิน หรือ Payment Platform คือ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยผ่านการคัดเลือกจากสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้พัฒนาแพลตฟอร์มแอปทางรัฐ ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักในการลงทะเบียนในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเลต สำหรับบริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ได้คะแนนด้านคุณภาพมากที่สุด โดยเสนอราคาวงเงิน 90 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ค่าขนส่ง ค่าจดทะเบียน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งหมด ตัวแทนของบริษัท บลูบิค ยืนยันว่า การพัฒนาระบบ Payment Platform จะเร่งดำเนินการได้ตามเวลาที่รัฐบาลกำหนด ก่อนหน้านี้ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้รับงานเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม “ทางรัฐ” ซึ่งเป็นซูเปอร์แอปของภาครัฐ เพื่อรองรับการให้บริการประชาชน และการ “ลงทะเบียน” ข้อมูลประชาชนและร้านค้า ซึ่งการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชน โดย DGA เป็นผู้จัดจ้าง ส่วนการพัฒนาระบบลงทะเบียนร้านค้าผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง เป็นบริษัท เด็พธเฟิร์สท จำกัด (Depth First) เป็นผู้พัฒนา
เงื่อนไขกลุ่มคนทั่วไป เฟส 3
คนลงทะเบียนแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ” ยืนยันตัวตน
-ประชากรที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
-สัญชาติไทย
-อายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป (ก่อนวันที่ 16 ก.ย. 2567)
-ไม่เป็นผู้มีรายได้เกิน 840,000 บาท (สำหรับปีภาษี 2566)
-ไม่เป็นผู้ที่มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันเกิน 500,000 บาท (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567)
-ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ
-ไม่เป็นผู้ที่ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ
-ไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ
ตรวจสอบสิทธิเงินดิจิทัล 10,000 บาท บนแอปทางรัฐ
1.เปิดแอปทางรัฐ เข้าสู่ระบบให้เรียบร้อย จากนั้นกดปุ่มตรวจสอบสถานะ
2.ระบบจะขออนุญาตเข้าถึงข้อมูล และขอยืนยันเบอร์โทรศัพท์มือถือ เพื่อใช้ในการยืนยันตัวตน ให้กดปุ่มยืนยันข้อมูล
3.กรอกเบอร์โทรศัพท์และกดปุ่มรับรหัสทาง SMS (OTP)
4.กรอกรหัส OTP และกดปุ่มยืนยันโทรศัพท์มือถือ
5.กดปุ่มอนุญาต ให้แอปพลิเคชั่นเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล
6.ระบบจะแสดงผลสถานะในการรับสิทธิตามโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่าอยู่ในขั้นตอนใด
หากอยู่ในขั้นตอนที่ 3 คือระบบอยู่ระหว่างการตรวจสอบสิทธิ
หากอยู่ในขั้นตอนที่ 4 คือไม่ได้รับสิทธิ
หากอยู่ในขั้นตอนที่ 5 คือได้รับสิทธิตามโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท
ที่มา prachachat