ลูก 11 ขวบดิ่งตึก ทิ้งจดหมายชี้ตัว “ครู” พ่อลาออกตำรวจ เปลี่ยนอาชีพทวงความยุติธรรมให้

ลูกฆ่าตัวตายเพราะถูกครูดูถูก “ความจน” หน้าชั้นเรียน พ่อลาออกจากตำรวจ กลายเป็นทนายความที่มุ่งมั่นเรียกร้องความยุติธรรม

หลังจากที่ลูกชายฆ่าตัวตายเพราะครูดูถูกเขาหน้าชั้นเรียน พ่อของเขาจึงลาออกจากงานเป็นตำรวจจราจรมาเป็นทนายความและพยายามฟ้องร้องเพื่อความยุติธรรมให้กับลูกชายมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จาง ติงเจี๋ย และภรรยาของเขา อาศัยอยู่ในมณฑลเจียงซี ประเทศจีน ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อลูกชายคนเดียวของพวกเขา หลังจากเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 เด็กชายจาง วัย 11 ปี ฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดลงจากหลังคาอาคารสูง 24 ชั้นตรงข้ามโรงเรียนประถมของเขา

เด็กชายทิ้งข้อความไว้ว่า “การตายของผมไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับพ่อแม่ สังคม หรือประเทศของผมเลย มันเกี่ยวข้องกับครูโจวที่ใช้มาตรการรุนแรงกับผมเท่านั้น” โดยคุณครูผู้หญิงที่ถูกกล่าวถึงนั้น เป็นครูประจำชั้นของเด็กชายเอง

ทันทีที่ลูกชายเสียชีวิต ทั้งคู่ได้ตรวจสอบวิดีโอวงจรปิดจากโรงเรียน และพบว่าครูคนดังกล่าวดูถูกลูกชายซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อหน้าทั้งชั้นเรียน ในวันที่เด็กเสียชีวิตถูกครูโจวกล่าวหาว่าโกหกที่ไม่ส่งข้อสอบ และเนื่องจากมีหน้ากระดาษขาดในสมุด ครูคนนี้จึงทำให้นักเรียนอับอายโดยถามเขาว่า “นายยากจนแค่ไหน?”

นายจางกล่าวด้วยว่า ในเวลานั้นลูกชายของเขาเริ่มมองออกไปนอกหน้าต่างห้องเรียนที่เป็นอาคารสูง แต่จู่ๆ ครูโจวก็เอ่ยแนะนำนักเรียนคนอื่นๆ ซ้ำๆ ว่า “ควรกระโดดลงจากอาคารตรงข้ามโรงเรียน” ทั้งนี้ ครูรายนี้ถูกไล่ออกหลังจากนักเรียนเสียชีวิตได้ 2 เดือน แต่เธอยังคงปฏิเสธข้อกล่าวหานี้

จากนั้นก็เป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน ที่พ่อของเด็กชายผู้เสียชีวิตตัดสินใจลาออกจากงานตำรวจจราจร เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานฟ้องร้องครูโจว โดยเรียกร้องให้ต้องรับผิดทางอาญา จากตำรวจกลายมาเป็นทนายความ เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับลูกชายของเขา

ในการพิจารณาคดีครั้งแรกในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 นายโจว ถูกตัดสินว่าไม่มีความผิด เนื่องจากข้อมูลในวิดีโอวงจรปิดไม่มีหลักฐานเพียงพอ ที่จะเอาผิดฐานก่ออาชญากรรม แต่ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันนั้น ผู้เป็นพ่อที่เสียใจมากกับการเสียชีวิตของลูกชาย ยังคงฟ้องร้องครูผู้หญิงคนนี้อีกครั้ง และรอคำตัดสินอย่างมีความหวัง

นับตั้งแต่มาเป็นทนายความ นายจางได้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่คู่รักอีกหลายคู่ที่สูญเสียลูก ส่วนภรรยาของเขาซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านจิตวิทยา ได้ให้บริการฟรีแก่เกือบ 100 ครอบครัว ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่คล้ายกัน ทั้งคู่ได้รับคำชื่นชมมากมายบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก

นายจางกล่าวว่า “นับตั้งแต่ลูกชายของเราเสียชีวิต การปกป้องเด็กคนอื่นๆ ที่พบเจอเรื่องเหมือนเขา ก็กลายเป็นภารกิจของเรา”