หนุ่มกินบุฟเฟต์สุกี้โบราณ เขียนป้ายหน้าร้าน 199 net สุดท้ายโดนบวกเพิ่มไม่จบ ร้านโผล่คอมเมนต์ตอบแบบนี้ ชาวเน็ตบอกพลิกวิกฤติเป็นวิบัติ!
วันที่ 5 ตุลาคม 2567 ในกลุ่มเฟซบุ๊ก กลุ่มคนรักบุฟเฟต์ (Buffet Lovers) ที่มีสมาชิกมากกว่า 1.3 ราย มีชาวเน็ตคนหนึ่งเข้ามาบอกเล่าประสบการณ์กินสุกกี้โบราณแบบบุฟเฟต์ ที่ติดบ้านหน้าร้านตัวโตๆ ว่า “199 บาท net” หรือก็คือหมายถึงยอดสุทธิจ่ายเงินแค่ 199 บาทไม่มีบวกเพิ่ม แต่เมื่อเข้าไปทานนอกจากจะถูกคิดค่าน้ำเพิ่มแล้ว ยังต้องจ่าย Value Added Tax (VAT) หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม อีกด้วย
โดยเจ้าของโพสต์เล่าว่า “สวัสดีครับ ผมอยากรู้ความเห็นของทุกคนว่าคำว่า net มีความหมายว่ายังไง ครอบคลุมถึงไหน แต่สำหรับผม ถ้ามีคำว่า net ผมมองว่าจ่ายจบที่ราคานั้น ไม่มีการบวกค่าน้ำ ค่าvat เพิ่ม วันนี้ผมได้ไปทานสุกี้ร้านนึงมาครับ ชื่อร้านอยู่ในรูป ผมเห็นป้าย ผมก็คาดหวังว่าผมจะจ่ายแค่ 199 บาท พอเข้าไป กลายเป็นว่ามีเพิ่มค่าน้ำ แต่ผมก็ไม่ได้อะไร ปล่อยผ่าน จนมาถึงตอนคิดเงิน ร้านมีการบวกเพิ่มค่าvatอีก ผมมองว่าไม่โอเคครับ ถ้าจะคิด ไม่ควรเขียนหน้าร้านว่า net ตั้งแต่แรก ทุกคนมีความเห็นว่ายังไงครับ”
หลังจากโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกมา ก็มีผู้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์จำนวนไม่น้อย จนกระทั่งทางร้านต้องเข้ามาคอมเมนต์ชี้แจงว่า “ป้ายที่ลูกค้าให้รูปมา เป็นป้ายเก่าประมาณ 7-8 ปีที่แล้วค่ะ ทางร้านต้องขออภัยในความเข้าใจผิดด้วย ที่อาจทำให้สื่อสารเข้าใจผิด” อย่างไรก็ดี จากคำตอบนี้นอกจากจะไม่สามารถสยบดราม่าได้แล้ว ยังเป็นการสุมไฟเรียกรถทัวร์มาลงเพิ่มแบบฉ่ำๆ โดยชาวเน็ตตอบโต้ว่า
“แต่ไม่แก้ไข แต่ไม่เอาออก คือตั้งใจวางไว้เพื่อ…”
” ป้ายเก่าแต่ก็ยังตั้งหน้าร้านใช่ไหมคะ งั้นก็ควรปรับเปลี่ยนหรือติดแจ้งราคาให้ชัดว่าอัปเดตราคานี้ไหมคะ ไม่งั้นมันเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภคนะ ไม่ใช่ทำให้สื่อสารเข้าใจผิด”
“คงสื่อสารคลาดเคลื่อนมาตลอดหลายปีเลย”
“7-8 ปี บวกได้กี่บาทแล้ว”
“คิดดีไม่ได้เลย ข้างนอก net. แต่เข้าร้าน 199+”
“ป้ายนี่ since 2006 ด้วยเลยไหมคะ กลยุทธ์ไล่ลูกค้าหรืออะไร?”
“เข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภคได้เลย”
“ป้ายเก่าแต่ตั้งหน้าร้านอยู่ = เป็นราคา ณ วันที่ใช้งานอยู่ ราคาที่แจ้งต่อสาธารณะนะคะ ไม่มีข้ออ้างเก่าไม่เก่าค่ะ”
“ถ้าเป็นญี่ปุ่นเขียนราคาแบบนี้ผิดกฎหมายเลยนะ เขียนราคาแบบนี้ได้ แต่ต้องมีวงเล็บบอกราคาที่รวมภาษีแล้ว 199(254) แบบนี้บอกให้ชัดเจน ไม่งั้นถือว่าเจตนาหลอกลวงผู้บริโภค”
“ป้ายโคตรใหม่ บอกเก่าไว้ก่อน ถ่ายใหม่แต่บอกเก่าไว้ก่อน555555 ออกมายอมรับผิดก็จบ จากแรกพลิกวิกฤติเป็นโอกาส กลายเป็นพลิกวิกฤติเป็นวิบัติ”