เฉลยแล้ว ทำไมไม่พบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ จากซากเรือไททานิก ทั้งที่คร่าชีวิตกว่า 1,500 ราย

จากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่โลกไม่ลืม กลายเป็นเรื่องราวในตำนานที่ไม่ว่าใครก็ต้องรู้จัก เมื่อเรือสำราญสุดหรู ที่ในยุคนั้นว่ากันว่า ไม่มีวันจม อย่าง ไททานิก ประสบอุบัติเหตุชนภูเขาน้ำแข็ง จมลงสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก เมื่อปี ค.ศ. 1912 หรือราว 112 ปีก่อน ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 1,517 คน รวมถึงโศกนาฏกรรมเรือไททัน ที่คร่าชีวิตนักสำรวจไปถึง 5 ราย โดยมีหลายคนตั้งคำถาม ถึงเหตุใดไม่เคยพบซากชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์ในก้นมหาสมุทรเลย

แต่ขณะที่ทางทีมสำรวจกลับยังคงพบเห็น ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวต่าง ๆ หลายชิ้นที่ยังคงทนทานต่อการกัดกร่อนของน้ำทะเลลึก เช่น รองเท้า เครื่องประดับ ท่ามกลางน้ำทะเลที่เย็นจัดเพราะอยู่ใกล้ขั้วโลกเหนือที่ความลึก 3,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายโรเบิร์ต บัลลาร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจทะเลลึก ผู้ค้นพบซากเรือไททานิกเป็นคนแรกในปี พ.ศ. 2528 ได้ออกมาอธิบายว่า องค์ประกอบทางเคมีของน้ำทะเลที่อยู่ลึกลงไปจนถึงระดับหนึ่งนั้น เป็นตัวการสำคัญที่สามารถสลายกระดูกมนุษย์ได้

เนื่องมาจาก น้ำทะเลที่อยู่ลึกมาก ๆ จะอยู่ในสภาพที่พร่องสารแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของน้ำทะเล ไม่เหมือนน้ำทะเลที่อยู่ด้านบนที่ผิวน้ำจะอิ่มตัวด้วยสารนี้ โดยสารแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระดูกคนและสัตว์

ดังนั้น เมื่อมีสิ่งมีชีวิตที่เสียชีวิตไปแล้ว หรือตกเป็นเหยื่อของผู้ล่าและโดนกินเนื้อหนังจนหมด เหลือแต่กระดูก น้ำทะเลก็จะทำให้ชิ้นส่วนกระดูกละลายหายไปกลายเป็นหนึ่งเดียวกับน้ำทะเลนั่นเอง