รู้จัก “ปลาหมอคางดำ” ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ ลักษณะอย่างไร ระบาดหนัก 11 จังหวัด ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำไทย ระบบนิเวศ และเกษตรกรอย่างไร
จากกรณี การแพร่กระจายของ “ปลาหมอคางดำ” ซึ่งเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือ เอเลี่ยนสปีชีส์ ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร และทำลายห่วงโซ่ตามธรรมชาติของปลาพื้นถิ่นในประเทศไทย
วันนี้ ข่าวสดออนไลน์ จะพาทุกคนทำความรู้จัก ‘ปลาหมอคางดำ’ ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ว่ามีวิธีสังเกต ลักษณะภายนอกอย่างไร และ ‘ปลาหมอคางดำ’ มีผลกระทบต่อแหล่งน้ำไทย ระบบนิเวศ และเกษตรกรอย่างไร
“ปลาหมอคางดำ” คืออะไร ?
ปลาหมอคางดำ (Blackchin tilapia) คือ ปลาที่มีลักษณะคล้ายกับปลาหมอเทศ มีต้นกำเนิดในทวีปแอฟริกา แต่ต่อมาได้มีการนำเข้ามาในหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะอเมริกา ยุโรป หรือประเทศไทยเองก็มีการนำเข้ามาในปี 2553 ถือเป็นปลาจำพวกเอเลี่ยนสปีชีส์ที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำท้องถิ่น
สำหรับ “ปลาหมอคางดำ” เป็นปลานักล่า กินทั้งพืช สัตว์ แพลงก์ตอน ลูกปลา ลูกหอยสองฝา ลูกกุ้งทะเล โดยเฉพาะกุ้งกุลาดำ กุ้งขาวแวนนาไม และกุ้งแชบ๊วย
เนื่องจากปลาหมอคางดำมีลำไส้ที่ยาวกว่าลำตัวถึง 4 เท่า มีระบบย่อยอาหารที่ดี สามารถย่อยกุ้งได้ภายในเวลาไม่ถึง 30 นาที ทำให้ปลาหมอคางดำมีความต้องการอาหารอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับนิสัยค่อนข้างดุร้ายถ้าเทียบกับปลาหมอเทศ
ลักษณะของ “ปลาหมอคางดำ”
- ลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกับปลาหมอเทศ
- เพศผู้จะมีสีดำบริเวณหัว และบริเวณแผ่นปิดเหงือกมากกว่าเพศเมีย
สามารถพบ “ปลาหมอคางดำ” ได้ที่บริเวณใด ?
- น้ำจืด
- บริเวณปากแม่น้ำที่เป็นน้ำกร่อย
- ป่าชายเลน
- ในทะเล
“ปลาหมอคางดำ” มีผลกระทบต่อแหล่งน้ำไทย ระบบนิเวศ และเกษตรกรอย่างไร
ปลาหมอคางดำ เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ สัตว์น้ำต่างถิ่น ที่ทำลายระบบนิเวศอย่างรุนแรง ทั้งยังเป็นสัตว์นักล่า มีความต้องการอาหารอยู่ตลอดเวลา บวกกับมีนิสัยดุร้าย มักแย่งอาหารสัตว์น้ำในพื้นที่ ทำให้ปลาท้องถิ่นลดลงอย่างรวดเร็ว
ในด้านผลกระทบต่อเกษตรกร หากมีการแพร่กระจายของ ปลาหมอคางดำ ก็จะส่งผลกระทบต่อปลาที่เลี้ยงไว้
ข้อมูลจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว และผู้ร่วมก่อตั้ง ReReef คาดการณ์ว่าในอนาคต ‘ปลาหมอคางดำ’ มีแนวโน้มที่ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นจะขยายตัวมากขึ้นในทุกภูมิภาค และจะมีปัญหาที่รุนแรงขึ้น ซึ่งเกิดจากการกระทำของมนุษย์ที่นำเข้ามาเพาะพันธุ์ หรือเข้ามาผ่านการติดตามท้องเรือขนส่ง
นอกจากนี้ ยังมีปฏิสัมพันธ์อีกหลายอย่าง เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะยิ่งส่งเสริมประสิทธิภาพการรุกรานให้เกิดมากขึ้น
นอกจากด้านระบบนิเวศที่ผ่านมาการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยไม่ได้รับการแก้ไขปัญหามาเป็นเวลานาน ยังผลกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน
ต่อเรื่องนี้ คุณปัญญา โตกทอง คณะกรรมการลุ่มน้ำเพชรบุรี ได้สะท้อนปัญหาว่า การระบาดของปลาหมอคางดำได้ส่งผลกระทบในทุกพื้นที่ อาทิ
- ทะเลบางขุนเทียนมีปลาหมอคางดำเข้ามากินลูกหอยแครง
- ที่เพชรบุรีมีปลาหมอคางดำเข้ามากินลูกปูม้า ลูกปูแสม รวมถึงสัตว์น้ำขนาดเล็กอีกมากมาย
ปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลให้ในอนาคตมีแต่การกระจายพันธุ์ของปลาหมอคางดำอย่างเดียว และไม่เหลือทรัพยากรท้องถิ่นอีกเลย