จากสื่อต่างประเทศ ได้รายงานว่า ดร.เฉิน จื้ออี้ ผู้อำนวยการแผนกศัลยกรรมทั่วไปและศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ของโรงพยาบาลอี้ต้าของไต้หวัน ได้แชร์กรณีศึกษา ชายวัย 40 กว่า เป็นวิศวกรที่ต้องทำงานหนักและเผชิญความเครียดสูง
เขามักพึ่งพาข้าวกล่องเป็นอาหาร 3 มื้อ หรือในวันทำงานล่วงเวลายาวนาน เขาจะกินของทอดและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นมื้อเย็น โดยแทบไม่ได้บริโภคผักและผลไม้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมการกินที่พบได้บ่อยในหมู่คนทำงานที่มีตารางชีวิตยุ่ง ก่อนที่จะป่วยหนัก ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้านี้ เขาเริ่มมีอาการผิดปกติในการขับถ่าย แต่กลับไม่ใส่ใจหรือให้ความสำคัญกับสัญญาณเตือนนี้
ดร.เฉิน จื้ออี้ เผยว่า ชายคนนี้จนกระทั่งหลังจากไปรับประทานอาหารกับเพื่อน เขารู้สึกปวดท้องและไม่สามารถขับถ่ายได้ จึงตัดสินใจไปหาหมอ เมื่อทำการตรวจพบว่า ที่ลำไส้ใหญ่ส่วนสุดท้ายของเขามีเนื้องอกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร และเริ่มแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง แพทย์จึงทำการผ่าตัดเอาลำไส้บางส่วนและเนื้องอกออก พร้อมทั้งจัดตารางการรักษาด้วยเคมีบำบัด
พร้อมเตือนว่า การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและไฟเบอร์ต่ำจะเปลี่ยนแปลงจุลินทรีย์ในลำไส้ ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังในลำไส้ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอก นอกจากนี้ การบริโภคเนื้อแดงและเนื้อแปรรูปในปริมาณมาก ยังได้รับการระบุจากองค์การอนามัยโลกว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
ดังนั้นแพทย์แนะนำให้ลดการบริโภคเนื้อแดงและเนื้อแปรรูป เพิ่มการรับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี พร้อมทั้งลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล และหันมาดื่มน้ำเปล่าหรือเครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาล
หากมีการเปลี่ยนแปลงในการขับถ่าย เช่น ท้องผูกเปลี่ยนเป็นท้องเสีย หรืออุจจาระเปลี่ยนเป็นขนาดเล็กลง และยังมีอาการอยากถ่ายหลังจากถ่ายเสร็จ ควรมองว่าเป็นสัญญาณเตือนและควรพบแพทย์แต่เนิ่นๆ